top of page
แนะนำรายวิชา.jpg

Week 01: Orientation

สัปดาห์ที่ 1

หัวข้อเรื่อง:     

แนะนำรายวิชา ดนตรีเพื่อประชาสังคม: แนวคิด นิยาม ความหมาย ด้านดนตรีเพื่อประชาสังคม


Orientation: Music for Society: Concept, definition and significant of music for society

รายละเอียด:    

แนะนำรายวิชา บรรยาย และอภิปรายแนวคิด นิยาม ความหมาย ด้านดนตรีเพื่อประชาสังคม และลักษณะของการเรียนรู้ในรูปแบบของการเรียนการสอนแบบโครงงานเป็นฐาน (Project Based Learning)

Week 01: Welcome

ดนตรีเพื่อประชาสังคม

ความหมายและนิยามที่เกี่ยวข้องกับงานดนตรีเพื่อประชาสังคม

การเชื่อมโยงบทสนทนาระหว่างนักดนตรีและผู้คน

การพัฒนาดนตรีมีความสำคัญดังนี้คือ สถาบันการศึกษาขั้นสูง ดังเช่น มหาวิทยาลัยหรือสถาบันดนตรีระดับสูง (conservatoire) ควรจัดระดับความสำคัญในการให้การศึกษาที่ดีแก่นักศึกษา ในด้านการเปิดพื้นที่ให้เกิดนวัตกรรมในการทำงานดนตรีเพื่อให้ผู้ชมได้เข้าถึงประสบการณ์การงานดนตรีที่มีคุณภาพและสามารถเข้าถึงได้ เนื่องจากผู้ชม กลุ่มคน มีความแตกต่างและหลากหลาย ทำให้การพัฒนางานดนตรีในรูปแบบใหม่ (new art form)  และการสื่อสารเป็นสิ่งสำคัญที่จะชี้ให้เห็นถึงคุณค่า ความหมาย และคุณูปการภายใต้ ของดนตรีที่มีความร่วมสมัยภายใต้บริบทที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรม ชุมชน ในพื้นที่ เพราะฉะนั้นการผลิตผลงานทางดนตรีเพื่อประชาสังคมควรมีกระบวนการในการสร้างกรอบความคิดตลอดจนถึงกระบวนการการประเมินคุณภาพในกิจกรรมนั้น ๆ ตามความต้องการที่หลากหลายและสะท้อนกับวัตถุประสงค์ของงาน


การสร้างสภาพแวดล้อมและพื้นที่ใหม่ ๆ เพื่อเป็นการดึงดูดผู้ชมเป็นประเด็นที่น่าสนใจสถาบันการศึกษาควรเปิดโอกาสให้ได้ทดลองทำภายใต้ความยืดหยุ่นในการทำงานที่จะต้องคำนึงถึงความหลากหลายและบริบทที่แตกต่างกันด้วย ทำให้การขยายขอบเขตขอบการฝึกฝน เปิดกว้างให้มีพื้นที่สำหรับคนดูมากมากขึ้นอาจจะเป็นในเรื่องของการมีส่วนร่วมก็เป็นได้ หรืออาจเชื่อมโยงศิลปะอื่นที่แตกต่างกันแต่ยังคงสอดรับความวัตถุประสงค์และความตั้งใจในกิจกรรมนั้นด้วย ด้วยเหตุนี้ทำให้สถาบันการศึกษาควรจัดการการเรียนการสอนเพื่อพัฒนาทรัพยากรบุคคล ในที่นี้คือนักดนตรีที่มีความยืดหยุ่นสำหรับการทำงานดนตรีกับชุมชนได้ด้วย จะนำไปสู่การพัฒนาคุณค่า ความหมายของความนักดนตรีที่มีความน่าสนใจต่อสภาวะปัจจุบัน และพร้อมที่จะสามารถสร้างประโยชน์ให้แก่ส่วนร่วมได้ด้วย มิใช่เพียงแต่บรรเลงดนตรีเท่านั้น  (Renshaw, 2003)

ดนตรีคือข้อความ

ศาสตรจารย์เกียรติคุณ ไนเจล ออสบอร์น (Prof. Emeritus Nigel Osborn) จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติ
เอดินเบอระ สหราชอาณาจักร (University of Edinburgh, UK) ถือได้ว่าเป็นบิดาของการทำงานดนตรีเพื่อประชาสังคม โดยออสบอร์นได้ใช้ดนตรีและศิลปะสร้างสรรค์เพื่อช่วยเหลือเยาวชนที่ตกเป็นเหยื่อของความขัดแย้ง โดยกิจกรรมได้พัฒนาในช่วงสงครามบอสเนียร์-เฮอร์เซโกวีนา เมื่อ พ.ศ. 2535 – 2538 โดยกิจกรรมได้นำมาใช้อีกในคาบสมุทรบอลข่าน ตะวันออกกลาง แอฟริกาตะวันออก อินเดีย และอุษาคเนย์ ออสบอร์นได้รับรางวัลสันติภาพจาก สถาบันสันติภาพซาราเยโว ในการทำงานกับเยาวชน ณ ประเทศบอสเนียร์ในช่วงสงครามที่มีการล้อมเมือง และได้ริเริ่มในงานด้านสิทธิมนุษยชน เมื่อปี พ.ศ. 2555 – 2557 ออสบอร์นได้ดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการด้านศิลปะเพื่อสังคม (Chair of the Global Agenda Committee for Art in Society) ของสภาเศรษฐกิจโลกด้วย (World Economic Forum)

เมื่อปี พ.ศ. 2560 ออสบอร์นได้ปาฐกถาเกี่ยวกับการทำงานในลักษณะของดนตรีเพื่อประชาสังคมในการประชุมวิชาการนานาชาติทางด้านดนตรี Princess Galyani Vadhana International Symphosium ณ สถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนา โดยมีความสำคัญตอนหนึ่งว่า “ดนตรีคือข้อความ”  (Osborn, 2017)  ในที่นี้หมายถึงดนตรีมีศักยภาพในการส่งต่อแนวคิดและความปารถนาดีต่อผู้อื่น ในการบรรยายกล่าวถึงกิจกรรมด้านดนตรีสร้างสรรค์ในภาวะสงครามของประเทศบอสเนียร์ ในการก้าวข้ามความเป็นมายาคติ (mythology) การเปลี่ยนแปลงในการทำงานดนตรีให้เกิดประโยชน์และเป็นสากล (transformation) โดยในปีดังกล่าวได้มีการออกภาคสนามกับผู้สอนด้วย ณ มูลนิธิเด็กอ่อนในสลัม คลองเตย กรุงเทพฯ

Week 01: Text
จับภาพหน้าจอ 2564-04-22 เวลา 16.11.32.pn
Week 01: Image

ดนตรีเป็นของคนทุกคน

ศาสตราจารย์ แอนนา รีด (Prof. Anna Reid) จากวิทยาลัยดนตรีซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย (Sydney Conservatorium of Music, Australia) กล่าวถึงประสบกาณ์ทางด้านดนตรีว่า “ดนตรีเป็นของคนทุกคน” (Reid, 2019) ในปาฐกถาที่มีความเกี่ยวข้องกับประสบการณ์ทางดนตรีของคนทั้งที่เป็นนักดนตรีและที่ไม่เป็นนักดนตรี (non-musician) ด้วยเหตุนี้ดนตรีจึงไม่ได้ห่างไกลจากจากมนุษย์ อีกทั้งดนตรียังมีความสำคัญต่อการดำเนินชีิวิตของมนุษย์ที่ซึ่งจะสามารถค้นพบว่าเหตุใดพวกเราควรร่วมกันสร้างสรรค์สังคมในยุคแห่งความเป็นปัจจุบัน  

Week 01: Text
จับภาพหน้าจอ 2564-04-21 เวลา 11.11.26.pn
Week 01: Image

ดนตรีเป็นองค์ประกอบที่สำคัญและมีอิทธิพลต่อมนุษย์

ในการประชุมวิชาการนานาชาติในปีเดียวกันกับ ศาสตราจารย์ แอนนา รีด ณ สถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนา ศาสตราจารย์ ดีเทอร์ มัค (Prof. Dieter Mack) จากสถาบันดนตรีกรุงลูเบ็ค สหพันธ์รัฐเยอรมนี (Musikhochschule Lübeck, Germany) ได้กล่าวถึงความสำคัญของดนตรีตอนหนึ่งว่า “ดนตรีเป็นองค์ประกอบที่สำคัญที่มีอิทธิพลต่อมนุษย์” (Mack, 2019) ซึ่งแสดงให้เห็นว่าดนตรีเป็นสัญญะสำคัญ (symbolic) และมีอิทธิพลต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ ศิลปินนักดนตรีทำหน้าที่บอกเล่าเรื่องราวมนุษย์ผ่านดนตรีที่มีองค์ประกอบจากการถักทอ ร้อยเรียง เรื่องราวในบริบทของแต่ละสังคมมนุษย์ ทำให้ดนตรีทำหน้าส่งต่อความหมายเป็นสำคัญ

จับภาพหน้าจอ 2564-04-21 เวลา 11.14.41.pn
Week 01: Text

ดนตรีเพื่อประชาสังคมในสหราชอาณาจักร (United Kingdom)

มหาวิทยาลัยเอดินเบอระ (University of Edinburgh)


สำนักวิชาดุริยางคศาสตร์ (Reid School of Music) มหาวิทยาลัยเอดินเบอระ สหราชอาณาจักร ปัจจุบันรายวิชาอยู่ภายใต้วิทยาลัยศิลปะ (College of Arts) เดิมเปิดทำการเรียนการสอนรายวิชาที่ชื่อว่าดนตรีเพื่อชุมชนหรือ Music in the Community ในภาษาอังกฤษ  ปัจจุบันเป็นรายวิชาการฝึกฝนด้านดนตรีสร้างสรรค์ (Creative Music Practice) ซึ่งถือได้ว่าเป็นรายวิชาที่เป็นเอกลักษณ์สำคัญในการศึกษาทางด้านดนตรีมามากว่า 20 ปีโดยผู้ริเริ่มการศึกษารายวิชานี้ได้แก่ ศาสตราจารย์ ไนเจล ออสบอร์น (Prof. Nigel Osborn) การพัฒนารายวิชานี้เกิดจากการทำงานกับเยาวชนในพื้นที่สงคราม ณ ประเทศบอสเนียร์ (Bosnia) โดยใช้องค์ความรู้ทางด้านดนตรีพลิกฟื้นทางจิตใจให้แก่ผู้คนในสงคราม (Reid School of Music, 2018) จากรายวิชาดังกล่าวทำให้เกิดนักกิจกรรมทางด้านดนตรี (music activist) จำนวนมากนำไปสู่การสร้างสรรค์สังคมในพื้นที่และสังคมโลกให้น่าอยู่ยิ่งขึ้น

มหาวิทยาลัยยอร์ค (University of York)

การสอนดนตรีชุมชน (community music) ของมหาวิทยาลัยยอร์ค ได้นิยามความหมายถึงดนตรีเพื่อชุมชนว่าการทำงานดนตรีชุมชนกำลังเติบโตของอาชีพดนตรีใหม่และเป็นการขยายกลุ่มผู้ชมผู้ฟังดนตรี โดยการเรียนการสอนเป็นลักษณะของการเรียนการสอนแบบโครงงาน (Project based learning) สามารถครอบคลุมการทำงานดนตรีในที่ต่าง ๆ อาทิ โรงเรียน เรือนจำหรือทัณฑสถาน โรงพยาบาล ฯ ซึ่งเป็นกิจกรรมทางดนตรีที่พัฒนาหรือสร้างสรรค์ขึ้นระหว่างคนที่มีทักษะที่แตกต่างกัน รวมถึงวัฒนธรรมด้วย ทำให้นักกิจกรรมดนตรีชุมชนเหล่านี้ต้องทีทักษะในด้านดนตรีวิทยา (musicology) และการบรรเลงดนตรี (performing) ซึ่งเป็นสิ่งที่ท้าทายในการทำงานกับชุมชนที่นอกเหนือจากกิจกรรมดนตรีประเภทการแสดงในหอแสดงดนตรี  (Universit of York, n.d.) โดยต้องผสานความรู้และเข้าใจบริบทการทำงานดนตรีเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของการดำเนินกิจกรรมดนตรีเพื่อชุมชน โดยจะนำไปสู่การค้นหาดนตรีในรูปแบบที่แตกต่าง เช่น ในด้านการศึกษาหรือความต้องการพิเศษอื่น ๆ (special needs)

ดนตรีเพื่อประชาสังคมในสหรัฐอเมริกา (United States)

มหาวิทยาลัยไอโอวา (University of Iowa)

แมรี่ โคเฮน (Mary Cohen นักกิจกรรมทางดนตรีอีกคนหนึ่งที่มีความน่าสนใจ มีความเชี่ยวชาญในด้านดนตรีศึกษา โดยมีงานวิจัยที่สำคัญในลักษณะของดนตรีเพื่อชุมชนสังคม ดังเช่น กิจกรรมเสริมสร้างความเป็นอยู่ที่ดีผ่านกิจกรรมทางดนตรี การประพันธ์เพลง การขับร้องประสานเสียง  (Cohen, 2018)

ดนตรีเพื่อประชาสังคมในอาเซียน (สิงคโปร์)​

ย่งเสี่ยวโถว, มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ (National University of Singapore, Yong Siew Toh Conservatory)

จากการที่วิทยาลัยดนตรีย่งเสี่ยวโถว มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ ประสบความสำเร็จในด้านการจัดการเรียนการสอนในดนตรีปฏิบัติมากที่สุดในแถบอุษาคเนย์ (Southeast Asia) สิ่งที่สำคัญอีกประการหนึ่งเมื่อเทคโนโลยีมีบทบาทมากขึ้นทำให้คนหรือผู้ชมห่างเหินกับการมีปฏิสัมพันธ์การแสดงคอนเสิร์ตสด โดยทางวิทยาลัยได้เพิ่มแนวคิดในการทำงานกับชุมชนในลักษณะทีเรียกว่า การเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ (outreach) โดยกิจกรรมส่วนใหญ่เพื่อพัฒนาผู้ฟังในรูปแบบของดนตรีคลาสสิก  (Yong Siew Toh Conservatory, 2018) และดนตรีในบริบทอื่น ๆ เห็นได้จากกิจกรรมค่ายในเกาะบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย ในการเรียนรู้ลักษณะนี้เป็นแนวคิดเพื่อที่จะพัฒนาทักษะที่สำคัญของนักดนตรีในศตวรรษใหม่อีกด้วย

[เพิ่มเติม ดู  https://www.ystmusic.nus.edu.sg/outreach/]

ดนตรีเพื่อประชาสังคมในประเทศไทย

คณะดุริยางคศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อโณทัย นิติพน ถือได้ว่าเป็นผู้ริเริ่มกิจกรรมดนตรีเพื่อประชาสังคมที่เป็นรูปธรรมในประเทศไทย เดิมใช้ชื่อรายวิชาเหมือนกับมหาวิทยาลัยทางอังกฤษที่ว่า “Music in the Communiny” แต่ได้พัฒนารายวิชามาโดยตลอดในช่วงที่อาจารย์ยังรับตำแหน่งเป็นอาจารย์ประจำที่นั่น ถึงแม้ว่าชื่อรายวิชาจะเปลี่ยนไปเหตุจากความเข้าใจในแนวคิดที่ต่างกันทำให้รายวิชาในขณะนั้นได้เปลี่ยนชื่อไปในรูปแบบต่าง ๆ จาก Music in the Community à Music and the Community à Creative Music and the Community à Creative Music in Advanced and the Community ฯ เพื่อให้สอดคล้องกับบริบทและการสร้างความเข้าใจที่ดีต่อประโยชน์ของดนตรีเพื่อประชาสังคม ผู้สอนได้มีประสบการณ์ในการออกภาคสนามในการทำงานในลักษณะนี้ครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. 2551 ณ อำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน ในแนวคิดรวบยอด กล่าวคือ การทำงานให้การข้ามเขตแดนขององค์ความรู้ทางวิชาการและการบูรณาการองค์ความรู้อื่น ๆ นั้น นักดนตรีหรือศิลปินจำเป็นต้องเกิดจากการศึกษาและทำความเข้าใจให้เป็นอย่างดีก่อนที่จะเข้าสู่กระบวนการสร้างสรรค์ผลงานของศิลปิน  (นิติพน, 2551) ซึ่งในช่วงเวลานั้นผู้สอนถือได้ว่าเป็นลูกศิษย์รุ่นแรกของอาจารย์อโณทัยด้วย โดยในรายละเอียดของการทำงานจะกล่าวถึงในสัปดาห์ต่อไป

สำนักวิชาดุริยางคศาสตร์ สถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนา

พันธกิจที่สำคัญของการดำเนินงานของสถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนา กล่าวคือ เป็นสถาบันดนตรีที่สร้างและพัฒนาบุคลากรทางด้านดนตรีที่มีศักยภาพสูง มีความคิดสร้างสรรค์ และมีความสามารถในการประยุกต์ใช้องค์ความรู้ทางด้านดนตรีให้เป็นประโยชน์เหมาะสมกับบริบทของสังคม เชื่อมโยงองค์ความรู้ด้านดนตรีและศาสตร์อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องให้กับสังคม และเป็นศูนย์รวมในการศึกษาค้นคว้าวิจัย บูรณาการ และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางด้านดนตรีระหว่างบุคคล ชุมชน และสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทำให้ทางสำนักวิชาดุริยางคศาสตร์ สถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนา ได้จัดทำหลักสูตรการเรียนการสอนในหลักสูตร
ดุริยางคศาสตรบัณฑิต โดยกำหนดให้มีการเรียนการสอนรายวิชา “ดนตรีเพื่อประชาสังคม” ภาษาอังกฤษใช้คำว่า “Music for Society” ในกลุ่มหมวดวิชาเฉพาะด้าน กลุ่มวิชาแกน (core course) นำไปสู่การสร้างบัณฑิตที่มีความสอดคล้องกับปณิธานและพันธกิจของสถาบันฯ ด้วยรายวิชาดนตรีเพื่อประชาสังคมนี้เป็นรายวิชาในเชิงปฏิบัติการ ภายใต้แนวคิดการสร้างประโยชน์ให้กับสาธารณชนผ่านประสบการณ์ดนตรีที่นักศึกษาเลือกมาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ปัจจุบันรายวิชานี้เป็นรายวิชาต่อเนื่องจำนวน 4 ภาคการศึกษา (หลักสูตรใหม่ ดุริยางคศาสตรบัณฑิต 2562)



การเรียนการสอนแบบโครงงานเป็นฐาน

 การเรียนการสอนแบบโครงงานเป็นฐาน หรือภาษาอังกฤษใช้คำว่า “Project Based Learning” (PBL) ซึ่งมีขั้นตอนการเรียนรู้ที่ประกอบด้วย การแสวงหาความรู้ กระบวนการคิด และทักษะการแก้ไขปัญหาไว้ในรูปแบบนี้ เมื่อผู้เรียนสามารถสร้างสิ่งหนึ่งสิ่งใดขึ้นมาก็จะเสมือนเป็นการสร้างความรู้ขึ้นในตัวเอง โดยความรู้นี้จะสร้างความหมายต่อตัวผู้เรียนเพราะจะอยู่คงทน ไม่ลืมง่ายโดยขณะเดียวกันสามารถ่ายทอดให้ผู้อื่นเข้าใจในความคิดของตนเองได้ และที่สำคัญยังสามารถสร้างความรู้ใหม่ต่อไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ทำให้ความรู้ไม่ได้เกิดขึ้นจากผู้สอนเพียงอย่างเดียวแต่สามารถสร้างขึ้นโดยผู้เรียนรู้เองได้ และการเรียนรู้จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อผู้เรียนได้ลงมือปฏิบัติด้วยตนเอง (learning by doing) จะทำให้ผู้เรียนเชื่อมโยงองค์ความรู้เก่าและความรู้ใหม่ โดยพัฒนาเป็นองค์ความรู้ใหม่ที่อยู่ภายใต้ประสบการณ์ที่เอื้ออำนวยต่อการเรียนรู้  การเรียนรู้แบบโครงงานเป็นฐานประกอบด้วย 6 กระบวนการสำคัญ ประกอบด้วย 1) การเตรียมความพร้อม 2) การกำหนดและเลือกหัวข้อ 3) การเขียนโครงงาน/วางแผนงาน 4) การปฏิบัติ 5) การนำเสนอผลงาน 6) การประเมินผล (แขมมณี, 2550)

การจัดการเรียนการสอนในลักษณะนี้จะทำให้ผู้เรียนมีทักษะที่สำคัญต่อความต้องการของโลกในปัจจุบัน ในด้าน ทักษะในศตวรรษที่ 21 นวัตกรรม ความอยากรู้ ความท้าทาย ผลงานที่มีการเชื่อมโยงความคิด สามารถประเมินผลและทบทวนการทำงานได้ รวมถึงมาจากความต้องการของผู้เรียน และท้ายที่สุดแล้วการจัดการเรียนการสอนในลักษณะนี้ยังสอดคล้องกับการเรียนรู้ตลอดชีวิตอีกด้วย

Week 01: Text
จับภาพหน้าจอ 2564-04-21 เวลา 11.28.21.pn
Week 01: Image

การพัฒนาและปรับใช้กับรายวิชาดนตรีเพื่อประชาสังคม เป็นมีหลักคิดในการจัดการเรียนการสอนแบบโครงงานเป็นฐาน โดยจะค่อย ๆ คลี่คลายกระบวนวิธี อีกทั้งยังต้องคำนึงนึงความต้องการของชุมชนเป้าหมายด้วย ดนตรี จึงเป็นองค์ประกอบสำคัญในการพัฒนากิจกรรมเพื่อประชาสังคม กอปรกับทักษะทีนักศึกษาจำเป็นต้องพัฒนาในด้านพร้อมกันระหว่างทักษะทางด้านความรู้ (hard skill) และทักษะทางด้านอารมณ์ (soft skill) ไปพร้อม ๆ กัน ซึ่งจะเป็นการพัฒนาที่สำคัญต่อนักศึกษาในการทำงานในอนาคตผ่านการเข้าอกเข้าใจผู้อื่น (sympathy)

บทสรุป

จากแนวคิดทั้งหมดที่กล่าวมานั้น ดนตรีเป็นจุดเชื่อมโยงของมนุษย์ที่เกิดจากการสะท้อนในวิถีการดำเนินชีวิตจากบริบทที่แตกต่างกัน เมื่อดนตรีมีความหมายมากขนาดนี้แล้วในฐานะนักดนตรีควรเปิดประตูใจให้กว้างมากขึ้นเพื่อให้เกิดคุณค่า และคุณูปการกับชุมชนและสังคมด้วย การทำงานในรูปแบบดนตรีเพื่อประชาสังคมโดยการจัดการเรียนการสอนในรูปแบบโครงงานเป็นฐาน ซึ่งกิจกรรมเพื่อประชาสังคมอาจเกิดขึ้นได้หลากหลายรูปแบบตามแต่ความต้องการของชุมชนและบริบทนั้น ๆ ด้วย

เอกสารอ้างอิง

ทิศนา แขมมณี. (2550). ศาสตร์การสอน : องค์ความรู้เพื่อการจัดกระบวนการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ. พิมพ์ครั้งที่ 5. กรุงเทพฯ: สํานักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

อโณทัย นิติพน. (2551). ผีแมน ม้ง เมือง และไทใหญ่: จากเสียงสู่การข้ามพรมแดน เวลา เชื้อชาติ และวัฒนธรรม. รัศมี ชูทรงเดช, มาจาก (คนละ) ฟากฟ้าของเผิงผา สู่การทลายเส้นแบ่งทางวิธีวิทยาทางโบราณคดี วลีในมานุษยวิทยา และมายาในศิลปกรรม (p. 170-71). กรุงเทพฯ: เอราวัณ.

Cohen, M. (2018, February 27). Mary Cohen . Retrieved January 10, 2019, from The University of Iowa : https://music.uiowa.edu/people/mary-cohen

Isaacs, D. (2017, July 19). Music in the Community returns to Greece to engage refugee children in music-making. Retrieved December 10, 2018, from The University of Edinburgh, Edinburgh College of Art: https://www.eca.ed.ac.uk/news/music-community-returns-greece-engage-refugee-children-music-making

Mack, D. (2019). Music and Matter - Musical Matter - Music Matters, Remarks on a Multi - Related Term. Princess Galyani Vahdhana Institute of Music (pp. 11-2). Bangkok: Yin-Yang Publishing.

Osborn, N. (2017). Phaya Naga and the Dolphins of Arion. Princess Galyani Vadhana International Symphsium (p. 13). Bangkok: Yin-Yang Publishing.

Reid School of Music. (2018, March 16). Classic poem retold in contemporary performance. Retrieved February 10, 2020, from University of Edinburgh: https://www.ed.ac.uk/local/schools/music-in-the-community

Reid, A. (2019). A Matter of Music. Princess Galyani Vadhana International Symposium 2019 (p. 11). Bangkok: Yin-Yang Publishing.

Renshaw, P. (2003, July 8). Connecting Conversations: The changing of voice of the artist. 4-5. Barcelona.

Universit of York. (n.d.). Community Music. Retrieved December 8, 2019, from Universit of York: https://www.york.ac.uk/study/postgraduate-taught/courses/ma-community-music/#content_placements

Yong Siew Toh Conservatory. (2018, April 30). YST Students Lead And Guide Through Music . Retrieved December 1, 2019, from Yong Siew Toh Conservatory: https://www.ystmusic.nus.edu.sg/yst-students-lead-and-guide-through-music/

Week 01: Text
bottom of page