top of page
แนะนำ.jpg

Week 01: Music for Society 3

สัปดาห์ที่ 01

หัวข้อเรื่อง:       

แนะนำรายวิชา วิธีวัดประเมินผล และแนวคิดรวบยอดดนตรีเพื่อประชาสังคม 3

Music for Society 3: Orientation, Evaluation and Concept

รายละเอียด:     

แนะนำรายวิชาดนตรีเพื่อประชาสังคม 3 มีแนวทางในการจัดการเรียนการสอนด้วยการใช้วิธีโครงงานเป็นฐาน (project-based learning) รวมถึงเกริ่นนำถึงการพัฒนางานดนตรีเพื่อประชาสังคมให้มีผลกระทบมากขึ้น โดยส่งเสริมให้ผู้เรียนดำเนินงานดนตรีเพื่อประชาสังคม 3 ในรูปแบบของกิจกรรมการบูรณาการกับศาสตร์อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง และกำหนดแนวทางในการวัดและประเมินผลผู้เรียนที่สามารถประเมินผลลัพธ์การเรียนรู้การจัดการเรียนการสอนของเคมบริดจ์ในสาขาดนตรีชุมชนได้อย่างน้อยอยู่ในระดับดีมาก (merit)
และดีเยี่ยม (distinction)

Book3: Week 01: Welcome

ดนตรีเพื่อประชาสังคม 3

ประชาสังคม (civil society)

ประชาสังคม (civil society) เป็นสิ่งที่ทำให้คนทั้งในโลกวิชาการและภาคปฏิบัติการให้ความสนใจมากที่สุดคำหนึ่ง ทำให้เกิดองค์กรหรือกลุ่มคนที่ไม่แสวงหากำไรเจริญฝังรากลึกไปในทุกมุมโลกและแน่นอนว่าเป็นเรื่องขับเคลื่อนของปรากฎการณ์ต่าง ๆ โดยองค์กรหรือกลุ่มคนที่มีบทบาทสำคัญในพื้นที่สาธารณะจากแนวคิดหลากหลายประเด็นที่ก่อให้เกิดต่อมนุษยชาติเป็นสำคัญ (ธีรพัฒน์, 2559) ในประเทศไทยแนวคิดทางประชาสังคมมีอยู่ 4 กลุ่ม  สามารถจำแนกได้ดังต่อไปนี้

  1. กลุ่มที่ 1 แนวคิดทางศาสนาโดยพัฒนามาจากพุทธศาสนา

  2. กลุ่มที่ 2 แนวคิดที่เน้นชุมชนสนใจในบทบาทและความสำคัญต่อชุมชน ในด้านวัฒนธรรม เศรษฐกิจ หรือแบบองค์รวม

  3. กลุ่มที่ 3 แนวคิดแบบตะวันตกโดยการมองและพัฒนานำเอาแนวคิดทางตะวันตกในการทำงานประชาสังคม

  4. กลุ่มที่ 4 แนวคิดที่เน้นให้ประสบการณ์ที่มาจากการปฏิบัติและประสบการณ์และความหลากหลาย (เชษฐา, 2547)


จากแนวคิดของ เชษฐา ทรัพย์เย็น ข้างต้นนั้น ทำให้สามารถย้อนกลับมามองการทำงานดนตรีเพื่อประชาสังคม มีแนวทางสอดคล้องกับการแนวคิดข้างต้นในการทำให้งานภาคสนามที่มีการบูรณาการความคิดในด้านเน้นชุมชนที่เป็นกลุ่มเป้าหมายหรือกลุ่มชุมชนในแต่ละพื้นที่ศึกษาผ่านวัฒนธรรม โดยในที่นี้คือวัฒนธรรมดนตรีผสมผสานกับการใช้ทฤษฎีและแนวคิดจากทั้งทางตะวันตกและตะวันออกที่หลากหลายในการดำเนินกิจกรรม รวมถึงการเปิดประสบการณ์ให้กับกลุ่มเป้าหมายหรือกลุ่มชุมชนผ่านกิจกรรมดนตรีต่าง ๆ ที่เป็นเครื่องมือในการพัฒนาศักยภาพมนุษย์ การทำงานดนตรีเพื่อประชาสังคมอาจไม่ใช่การทำงานในลักษณะขององค์กรเพื่อประชาสังคม แต่อย่างใดแต่เป็นการทำงานของการรวมตัวกันของคนและกลุ่มต่าง ๆ ที่จะก่อประโยชน์ให้กับกลุ่มเป้าหมายและกลุ่มชุมชนเหล่านั้นผ่านการใช้ดนตรีเป็นเครื่องมือในการดำเนินกิจการเพื่อสังคม

การผสมผสานการเรียนรู้จากพีระมิดของเบนจามิน บลูมและแนวคิดประชาสังคม

จากพีระมิดแห่งการเรียนรู้ตามแนวคิดของเบนจามิน บลูม (Benjamin Bloom, 1913 – 1999) นักจิตวิทยาการศึกษาชาวอเมริกัน ศึกษาเกี่ยวกับพฤติกรรมการเรียนรู้ของมนุษย์โดยแบ่งระดับพฤติกรรมสามารถนำมาปรับใช้ในการทำงานดนตรีเพื่อประชาสังคมได้เป็นอย่างดี ในด้านการจดจำ การทำความเข้าใจ การประยุกต์ใช้ การวิเคราะห์ การประเมินผล และการสร้างสรรค์ (Armstrong, 2010)  ดังรูปที่ 1

Book3: Week 01: Text
จับภาพหน้าจอ 2564-04-25 เวลา 10.52.58.pn
Book3: Week 01: Image

ในกระบวนการเรียนรู้ของรายวิชาดนตรีเพื่อประชาสังคม 3 เป็นการพัฒนาแนวคิดให้สอดคล้องแนวทางการเรียนรู้ของบลูมและการทำงานภาคสนามที่มีความแตกต่างจากบริบทเดิมในดนตรีเพื่อประชาสังคม 1 และดนตรีเพื่อประชาสังคม 2 โดยการจัดการเรียนการสอนของภาคการศึกษานี้จะเป็นการผสมผสานความรู้ในลักษณะของสหวิทยาการในการดำเนินกิจกรรมดนตรีเพื่อประชาสังคม โดยผู้เรียนมีประสบการณ์ในการผสมผสานระหว่างทฤษฎีและการปฏิบัติเป็นส่วนใหญ่แล้วมาจากดนตรีเพื่อประชาสังคม 2 โดยกิจกรรมการเรียนรู้ในแต่ละสัปดาห์ผู้เขียนออกแบบให้มีการปฏิบัติมากขึ้นทั้งที่เป็นในลักษณะการทำงานกลุ่มใหญ่และรายบุคคล โดยกำหนดให้ในแต่ละสัปดาห์มีการเรียนการสอนไว้ดังนี้

สัปดาห์ที่ 1        แนะนำรายวิชา วิธีวัดและประเมินผล และแนวคิดรวบยอดดนตรีเพื่อประชาสังคม 3

สัปดาห์ที่ 2         ความเป็นพลเมืองโลก การเชื่อมโยงแนวคิดด้านการตระหนักรู้ของนักดนตรีสมัยใหม่ในงานดนตรีเพื่อประชาสังคม​

สัปดาห์ที่ 3          กรณีศึกษา: อักษร-ศิลป์ เพื่อน้อง

สัปดาห์ที่ 4          แบ่งกลุ่ม: โครงร่างดนตรีเพื่อประชาสังคม 3

สัปดาห์ที่ 5           พัฒนากระบวนวิธีการทำงานรายกลุ่ม

สัปดาห์ที่ 6           การนำเสนอผลงานจากโครงร่างกิจกรรมดนตรีเพื่อประชาสังคม 3

สัปดาห์ที่ 7 - 10    งานกลุ่มภาคสนาม 1 - 4  และการนำเสนอผลงานต่อหน้าสาธารณชน

สัปดาห์ที่ 11         การนำเสนอผลงานอภิปรายผลรายกลุ่ม / รายบุคคล (รายงาน)

ผู้เรียนจะได้รับความรู้จากประสบการณ์ทั้งทางภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติในเรื่องของการบูรณาการความรู้ทางดนตรีกับศาสตร์อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยในภาคทฤษฎีนี้ผู้เรียนจะต้องทำความเข้าใจ “คน” ในฐานะ“พลเมืองโลก” และการเชื่อมโยงแนวคิดด้านการตระหนักรู้ในฐานะที่เป็นศิลปินนักดนตรีรุ่นใหม่ในสัปดาห์ที่สองและกรณีศึกษา กิจกรรมสร้างสรรค์ทางดนตรีและศิลปะ อักษร-ศิลป์ เพื่อน้อง ในเรื่องของกระบวนการกลุ่ม การปฏิสัมพันธ์ของคน การออกแบบกิจกรรมที่เกิดจากการบูรณาการความรู้ที่มีความหลากหลายมากขึ้น โดยเป็นแนวปฏิบัติที่ดีในการทำงานดนตรีเพื่อประชาสังคม 3

สัปดาห์ที่ 4 เป็นการแบ่งกลุ่มในการร่างโครงร่างดนตรีเพื่อประชาสังคม 3 โดยนักศึกษามีความรู้จากดนตรีเพื่อประชาสังคม 2 แล้วโดยนำเอามาพัฒนาต่อเพื่อสร้างเครื่องมือในการดำเนินกิจกรรมดนตรีเพื่อประชาสังคม 3 ให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นจากแนวคิดบลูมและการทำงานในรูปแบบบูรณาการตามทฤษฎีและแนวคิดที่ศึกษา โดยในสัปดาห์ที่ 5 จะเป็นการพัฒนากระบวนการทำงานรายกลุ่ม และสัปดาห์ที่ 6 เป็นการนำเสนอผลการดำเนินงานโครงร่างดนตรีเพื่อประชาสังคม 3

ในส่วนของการปฏิบัติภาคสนามและการลงพื้นที่เพื่อดำเนินกิจกรรมจะขึ้นอยู่กับการประสานงานกลุ่มเป้าหมายหรือกลุ่มชุมชน อาจมีเป็นช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง โดยมีการปฏิบัติภาคสนามไม่น้อยกว่า 10 – 12 ชั่วโมง และกำหนดให้มีการนำเสนอผลงานต่อหน้าสาธารณชนเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิบัติภาคสนามด้วย อีกทั้งกำนหดให้มีการอภิปรายผลจากการดำเนินกิจกรรมดนตรีเพื่อประชาสังคม 3 ในลักษณะกลุ่มและรายบุคคลด้วย เพื่อประเมินผลการดำเนินงานของนักศึกษาจากปัญหา อุปสรรคที่พบ และแนวทางการแก้ปัญหาในการดำเนินกิจกรรม

การเรียนการสอนแบบโครงงานเป็นฐาน

ผู้เรียนมีความรู้ความเข้าใจในการเรียนรู้แบบโครงงานเป็นฐานจากการศึกษาและปฏิบัติในรายวิชาดนตรีเพื่อประชาสังคม 1 และดนตรีเพื่อประชาสังคม 2 แล้วนั้น โดยมีสิ่งสำคัญในการเรียนรู้รูปแบบดังกล่าวมีกระบวนการที่สำคัญ 6 กระบวนการประกอบด้วย 1) การเตรียมความพร้อม 2) การกำหนดและเลือกหัวข้อ
3) การเขียนโครงงาน/วางแผนงาน 4) การปฏิบัติ 5) การนำเสนอผลงาน 6) การประเมินผล (ทิศนา, 2550) ผสมผสานกับแนวคิดประชาสังคม ที่กำหนดให้มีการทำงานในรูปแบบการบูรณาการความรู้ทางดนตรีกับศาสตร์ อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เป็นแนวทางสำคัญในการพัฒนาการเรียนรู้ของผู้เรียนในดนตรีเพื่อประชาสังคม 3 โดยผู้เรียนจะต้องแสดงให้เห็นกระบวนการคิดและการทำงานที่เป็นระบบและสามารถเชื่อมโยงความรู้ อีกทั้งการวิเคราะห์และประเมินผลการดำเนินงานโดยตระหนักถึงประชาสังคมเป็นสำคัญ ในด้านของประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับกลุ่มเป้าหมายหรือกลุ่มชุมชน จากการประยุกต์ใช้องค์ความรู้ทางดนตรีและความคิดสร้างสรรค์ ผ่านทักษะการสื่อสารที่เข้าใจคนได้เป็นอย่างดี

Book3: Week 01: Text

บทสรุป

รายวิชาดนตรีเพื่อประชาสังคม 3 มีแนวทางในการจัดการเรียนการสอนในรูปแบบการเรียนรู้โดยใช้โครงงานเป็นฐาน โดยเน้นให้ผู้เรียนมีการเรียนรู้แบบพีระมิดตามแนวคิดของบลูมผสมผสานกับการบูรณาการความรู้ทางดนตรีกับศาสตร์อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยนำไปสู่การออกแบบกิจกรรมที่สร้างประโยชน์และผลกระทบในการดำเนินกิจกรรมดนตรีเพื่อประชาสังคม 3 แก่กลุ่มเป้าหมายหรือกลุ่มชุมชนในพื้นที่ศึกษา โดยแนวทางในการประเมินผลผู้เรียนตามแนวทางของการศึกษาดนตรีชุมชน การจัดการเรียนรู้เคมบริดจ์ ตั้งแต่ระดับดีมากและสามารถพัฒนาต่อได้ และดีเยี่ยมตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในรายวิชาดนตรีเพื่อประชาสังคม 3

เอกสารอ้างอิง

เชษฐา ทรัพย์เย็น. (2547). ประชาสังคมไทย: บทสังเคราะห์แนวคิด, การก่อร่างสำนักคิดแบบไทย และนัยเชิงนิติ-พฤตินัยต่อการเมืองไทย. รัฐศาสตร์สาร, 328-380.

ทิศนา แขมมณี. (2550). ศาสตร์การสอน : องค์ความรู้เพื่อการจัดกระบวนการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ. พิมพ์ครั้งที่ 5. กรุงเทพฯ: สํานักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

ธีรพัฒน์ อังศุชวาล. (2559). ปุจฉาว่าด้วย 'ประชาสังคม' (civil society): บทสำรวจทฤษฎีและแนวคิดจากต่างประเทศสู่การพิจารณาประชาสังคมเชิงปฏิบัติการและองค์กรพัฒนาเอกชนไทย. วารสารสำนักบัณฑิตอาสาสมัคร, 1(13), 4.

Armstrong, P. (2010). Bloom’s Taxonomy. Vanderbilt University Center for Teaching.
Retrieved 1 Febuary 2020 from https://cft.vanderbilt.edu/guides-sub-pages/blooms-taxonomy/.

Oxford Cambridge & RSA. (2020,). Music in the Community: OCR level 3 Cambridge technical in performing arts. Oxford Cambridge and RSA. https://www.ocr.org.uk/Images/141422-
music-in-the-community.pdf

"เครื่องมือ / เกณฑ์การประเมินและวัดผล ท่านสามารถอีเมล์มาสอบถามยังผู้เขียนได้ที่ suppabhorn@pgvim.ac.th"

Book3: Week 01: Text
bottom of page