top of page
Week 07: Brainstorming
สัปดาห์ที่ 7
หัวข้อเรื่อง:
ระดมความคิดการจัดกิจกรรมสร้างสรรค์ทางดนตรี
Brainstorming: Creative musical activity
รายละเอียด:
กิจกรรมให้นักศึกษาได้ระดมความคิดในการทำงานดนตรีเพื่อประชาสังคมในบริบทหรือความต้องการของชุมชนต่าง ๆ เพื่อนำไปสู่การวางแผนงานอย่างเป็นระบบ
Week 07: Welcome
การวางแผนงานกิจกรรมดนตรีเพื่อประชาสังคม
การทำงานดนตรีเพื่อประชาสังคมเป็นความท้าทายในการทำงานดนตรีกับกลุ่มชุมชนเป้าหมาย การที่นักศึกษาสามารถเข้าใจภูมิหลังของวัฒนธรรมหรือชุมชนที่ศึกษาจะเป็นประโยชน์ในการทำงานสร้างสรรค์โดยจะทำให้สามารถออกแบบกิจกรรมเพื่อให้ความรู้กับกลุ่มเป้าหมายได้ ไม่ว่าจะเป็นการอบรมเชิงปฏิบัติการในรูปแบบต่าง ๆ ตามแต่วัตถุประสงค์ที่ได้ตั้งไว้ในกิจกรรมดนตรีเพื่อประชาสังคม เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้กลุ่มเป้าหมาย โดยปลายทางของการดำเนินงานควรมีการประเมินผลและแนวทางในการทำงานครั้งต่อไปด้วย ในสัปดาห์นี้จะมุ่งประเด็นไปในเรื่องของการระดมความคิดในการทำงานเพื่อประชาสังคม โดยผู้เรียนควรจะสามารถประยุกต์ใช้ให้เป็นแนวทางของตนเอง เพื่อแสดงให้เห็นถึงการพัฒนาด้านศิลปะการดนตรี (artistic development) ของนักศึกษาหรือกลุ่มการทำงานของนักศึกษาเอง
เพราะฉะนั้นการทำงานดนตรีเพื่อประชาสังคม ผู้เรียนควรมีความเข้าใจในการทำงานดนตรีเพื่อประชาสังคมใน 4 ประเด็นดังต่อไปนี้
1. มีความรู้ความเข้าใจในบริบทของวัฒนธรรม/ชุมชน/กลุ่มเป้าหมาย คือ การทำงานดนตรีกับประชาสังคมในกลุ่มเป้าหมายของแต่ละกิจกรรมควรมีความรู้ความเข้าใจถึงข้อแตกต่างของวัฒนธรรมและสังคมในชุมชนที่ทำงานด้วยเสมอ อีกทั้งยังต้องศึกษาความรู้ความเข้าใจของกลุ่มชุมชนเป้าหมายที่จะนำไปสู่กระบวนการการทำงาน และทรัพยากรอื่น ๆ อาทิ ผู้สนับสนุน ความร่วมมือเครือข่าย และงบประมาณด้วย
2. ผู้เรียนสามารถดำเนินกิจกรรมได้จริง โดยต้องตระหนักถึงการดำเนินกิจกรรมโดยเน้นกลุ่มเป้าหมายเป็นศูนย์กลาง โดยสามารถประเมินกลุ่มเป้าหมายเบื้องต้นในด้านความแตกต่าง อายุ เพศ เหตุการณ์สำคัญ วัตถุประสงค์ การคำนึงถึงความต้องการของกลุ่มเป้าหมายที่สะท้อนกลับไปยังความต้องการของชุมชนที่ดำเนินกิจกรรม ทำให้การออกแบบเนื้อหาของกิจกรรมมีความเหมาะสมและเกิดการเรียนรู้ผ่านดนตรีที่เป็นเครื่องมือในการพัฒนาศักยภาพของกลุ่มเป้าหมาย อีกทั้งควรสร้างความตระหนักรู้ว่าทุกคนเป็นเจ้าของผลงานจากการดำเนินกิจกรรม เพื่อเป็นแรงขับและสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจกับกลุ่มเป้าหมาย
3. ผู้เรียนสามารถวางแผนการดำเนินงานอย่างมีส่วนร่วมในการสร้างกิจกรรมดนตรีเพื่อประชาสังคมของสำหรับกลุ่มเป้าหมาย ในด้านความต้องการของชุมชน การกำหนดของเขตและระยะเวลา วัตถุประสงค์ของการดำเนินงานที่มีความชัดเจน หากสามารถระบุที่มาของแหล่งทุนได้จะทำให้สามารถวางแผนงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น อย่างไรก็ตามในการประสานงานกับกลุ่มชุมชนควรต้องมีความเข้าใจและคำนึงถึงสภาพความเป็นจริงของคนในชุมชนนั้น ๆ เสมอ
4. การประเมินผล (assessment) ควรมีการจัดทำอย่างเป็นระบบในกระบวนนี้เพื่อวิเคราะห์การดำเนินกิจกรรมดนตรีเพื่อประชาสังคมและสามารถเสนอแนวทางแก้ไขในการดำเนินงานได้เป็นขั้นตอนสุดท้าย (OCR, 2020)
Week 07: Text
ตัวอย่างการวางแผนงานการดำเนินงาน กรณีศึกษาค่ายอักษร - ศิลป์ เพื่อน้องฯ
การดำเนินงานกิจกรรมค่ายอักษร - ศิลป์ เพื่อน้องฯ เน้นกระบวนการทำงานอย่างมีส่วนร่วมของคณะนิสิตนักศึกษาที่เข้าร่วมกิจกรรม โดยจัดให้มีการอบรมเชิงปฏิบัติการในด้านวัตถุประสงค์ ได้ผลลัพธ์ที่เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างคณาจารย์และกลุ่มนิสิตนักศึกษา นำไปสู่กรอบคิดในการออกแบบกิจกรรมที่เหมาะสมโดยสามารถสรุปกระบวนวิธีดำเนินงานได้ 4 ขั้นตอนดังนี้
การประชุมหารือของนิสิตนักศึกษาร่วมกับคณาจารย์ (brainstorming)
การบริหารจัดการค่ายกิจกรรมดนตรีและศิลปะสร้างสรรค์ (camp conducting)
การจัดกิจกรรมภายในค่าย (workshop)
การนำเสนอผลงาน (showcasing)
โดยจากกระบวนการทั้ง 4 นี้นำไปสู่การถอดบทเรียน (lesson learned) ดังรูปที่ 23 และจัดทำเว็บไซต์เพื่อเผยแพร่ความรู้และพัฒนาเพื่อให้เกิดผลกระทบในการจัดกิจกรรมค่ายอาสาที่ใช้ศิลปะ ภาษา และดนตรีเป็นเครื่องมือและกลไกสำคัญในการดำเนินกิจกรรม (ศุภพร, ค่ายอักษร - ศิลป์ เพื่อน้องฯ ปีที่ 2 กิจกรรมดนตรีและศิลปะแบบ (คน) มีส่วนร่วม สู่ความเข้าใจ (คน) ในชุมชน, 2561)
Week 07: Text
Week 07: Image
บทสรุป
การระดมความคิดเพื่อการวางแผนงานในการดำเนินกิจกรรมดนตรีเพื่อประชาสังคม มีสิ่งที่ต้องคำนึงในประเด็นสำคัญ ๆ ประกอบด้วย ความรู้ความเข้าใจการบริบทของวัฒนธรรมชุมชนและกลุ่มเป้าหมายที่ศึกษา ผู้ออกแบบกิจกรรมควรสามารถออกแบบกิจกรรมที่ใช้การได้จริง อีกทั้งควรวางแผนงานอย่างมีส่วนร่วมทั้งในกลุ่มคณะและชุมชน รวมถึงควรคำนึงถึงวิธีการประเมินผล
เอกสารอ้างอิง
ศุภพร สุวรรณภักดี และคณะ. (2561). ค่ายอักษร - ศิลป์ เพื่อน้องฯ ปีที่ 2 กิจกรรมดนตรีและศิลปะแบบ (คน) มีส่วนร่วม สู่ความเข้าใจ (คน) ในชุมชน. ใน ค่ายอักษร - ศิลป์ เพื่อน้องฯ ปีที่ 2 โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนจุฬา-ธรรมศาสตร์ 3 ตำบลแม่หละ อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก (หน้า 29-32). กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
OCR. (2020, Jan 18). Music in the Community: OCR level 3 Cambridge technical in performing arts. From Oxford Cambridge and RSA: https://www.ocr.org.uk/Images/141422-music-in-the-community.pdf
Suwanpakdee, S., & Poktihitiyuk, Y. (2018). Aksornsilpa: Participation in Music and Arts Camp. Princess Galyani Vadhana International Symposium 201, 39-40.
Week 07: Text
bottom of page